ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 1615 การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย วรรคสอง เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น
|
|||||||||
คำพิพากษาศาลฎีาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2545 พินัยกรรมที่มีพยานลงลายมือชื่อสองคน แต่มิได้ลงวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมถือว่าเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656ย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 บันทึกข้อตกลงที่มีข้อความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในนามผู้จัดการมรดกของ ส. ไปในวันนี้แล้วและจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก เป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดก ที่จะมีขึ้นในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในอนาคตให้หมดไป จึงเป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 นอกจากนี้เงิน 10,000 บาท ที่ผู้ร้องจ่ายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ก็เป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์มรดกเพราะมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับเงินดังกล่าวไป แล้วทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก จึงเป็นการสละมรดกทั้งหมดมิใช่สละมรดกเพียงบางส่วนจึงมีผลเป็นการสละมรดกตามมาตรา 1612 และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1613เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 สละมรดกแล้วมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1615 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกไม่มีอำนาจร้องขอถอนผู้จัดการมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2544 การสละมรดก หมายถึง การสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้มรดกที่สละนั้นตกได้แก่บุคคลอื่นใด เพราะมิเช่นนั้นแล้วบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1615วรรคสอง จะไม่มีผลบังคับ ดังนั้น หนังสือที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำขึ้นโดยมีเจตนาจะไม่รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยจะยกให้ ด. ผู้เดียว จึงมิใช่เป็นการสละมรดก ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้ |